วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ระบบการป้องกันโรคในฟาร์มไก่เนื้อ

ระบบสุขศาสตร์ป้องกันโรคก่อนเข้า – ออก ฟาร์มเลี้ยงไก่
( Biosecurity systems of Broiler farms )


เรียบเรียงโดย น.สพ.ชัชวาลย์ สอนศรี
นายสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มไก่ประกัน
สาขาชัยนาท และ สาขาบึงสามพัน บริษัทสหฟาร์มและบริษัทในครือ
ประจำเดือน มีนาคม 2552


ระบบการป้องกันโรค และ การสุขาภิบาลภายในฟาร์ม
ระบบการป้องกันโรค (biosecurity system) หมายถึง การป้องกันไม่ให้เชื้อโรคที่สามารถก่อปัญหาการติดเชื้อหรือเกิดโรคต่อไก่บริเวณฟาร์มที่เราเลี้ยงดูอยู่ ทั้งนี้เชื้อโรคที่เป็นปัญหาในฟาร์มไก่เนื้อ ก็จะแบ่งออกได้ดัง
1.เชื้อไวรัส (virus) เช่น นิวคลาสเซิล (Newcastle) หลอดลมอักเสบ (infectious Brochitis) กัมโบโร (infectious) ฯลฯ
2.เชื้อแบคทีเรีย (bacteria) เช่น อี โค ไล (E.coil) ซัลโมเนลล่า (Salmonella) คลอสตริเดียม (Clostridium) แคมไพโลแบคเทอร์ (Campylobacter) ฯลฯ
3.เชื้อโปรโตซัว (protozoa) เช่น บิด (coccidial) ฮีสโตโมเนส (hittomonas) คลิปโตสปอริเดี่ยม (cryptosporidium) ฯลฯ
4.เชื้อพยาธิ (helminth) เช่น พยาธิตัวกลม พยาธิตัวแบน พยาธิไส้ตัน ฯลฯ
เชื้อโรคนั้นสามารถเข้ามาในฟาร์มได้ 3 ทาง คือ ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน จะแยกแยะทางที่เชื้อโรคเข้ามาในฟาร์มออกเป็นกลุ่ม ๆ ดังต่อไปนี้
1.เชื้อโรคเข้ามากับแหล่งของวัตถุดิบที่เข้ามาในฟาร์ม ประกอบด้วย
1. น้ำที่ใช้ในฟาร์ม (water contamination)
2. วัสดุรองพื้นแกลบ (litter contamination)
3. อุปกรณ์ที่นำมาใช้ในโรงเรือน (epuipmentcontamination)
4. ลูกไก่ (day old chick contamination)
5. สารบางอย่างที่ไม่ใช้ ยา วิตามิน และเกลือแร่
6. อาหารสัตว์ (feed contamination)
2.เชื้อโรคเข้ามากับยานพาหนะ ที่เข้ามาในฟาร์มหรือโรงเรือน
1. รถเจ้าของฟาร์ม
2. รถแขกที่จะเข้ามาเยี่ยมฟาร์ม
3. รถขนมูลไก่
4. รถขนส่งลูกไก่
5. รถขนส่งไก่ใหญ่
6. รถขนส่งอาหารสัตว์
7. รถของพนักงานส่งเสริม
3.เชื้อโรคเข้ามาในฟาร์มหรือโรงเรือน ผ่านทางบุคคล
1. คนเลี้ยงไก่
2. เจ้าของฟาร์มไก่
3. แขกที่มาเยี่ยมฟาร์ม
4. พนักงานส่งเสริม
4.เชื้อโรคเข้าในฟาร์มหรือโรงเรือนผ่านทางตัวสัตว์พาหะ โดยมีสัตว์พาหะที่มีความสำคัญดังนี้
1. นกทั่วๆ ไป ตามธรรมชาติ
2. หนู สุนัข แมว หรือ สัตว์ฟันแทะทุกชนิด
3. สัตว์เลื้อยคลานทุกชนิด เช่น จิ้งจก ตุ๊กแก กิ้งกือ ฯลฯ
4. แมลง เช่น แลงวัน แมลงปีกแข็ง ฯลฯ
5.เชื้อโรคเข้ามาพร้อมฝุ่น หรือ อากาศที่พัดเข้า – ออก ภายในฟาร์ม หรือที่เรียกว่า Air born ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สามารถนำพาเชื้อที่ก่อโรคมาสู่ไก่ภายในฟาร์มได้

สิ่งที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับระบบสุขศาสตร์ป้องกันโรคของฟาร์ม
ลักษณะทั่วไปของฟาร์ม
1.ทำเลที่ตั้งฟาร์ม
1.จะต้องไม่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อโรคไข้หวัดนก เช่น มีนกอพยพ หรือ สัตว์ปีกป่า จำนวนมาก และไม่มีการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง หรือไม่เลี้ยงไก่พื้นเมืองชุกชุม ห่างจากฟาร์มสุกร และถนนสายหลัก
2.จะต้อง มีรั้วรอบขอบชิด ตั้งห่างจากฟาร์มไก่พ่อแม่พันธุ์ สถานที่ฟักสัตว์ปีก โรงฆ่า ตลาดนัดค้าสัตว์ปีก และโรงงานอาหารสัตว์
3. สถานที่ และตำแหน่ง ของฟาร์ม จะต้องตั้งอยู่ในทําเลที่มีแหล่งน้ำสะอาด อย่างเพียงพอ
4.จะต้องได้รับอนุญาตจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

2.ลักษณะของฟาร์ม และ ผังฟาร์ม
1.มีขนาดพื้นที่ที่เหมาะสมกับจำนวนของโรงเรือนภายในคอมพาทร์เมนต์ และมีการวางฝังฟาร์มที่เหมาะสม
2.มีการจัดแบ่งพื้นที่ที่สอดคล้องกับการปฏิบัติงาน และปริมาณการผลิต โดยมีแผนผัง แสดงที่พักอาศัย สํานักงาน พื้นที่เลี้ยงสัตว์ ที่เก็บอาหาร โรงเก็บอุปกรณ์ แหล่งน้ำ และพื้นที่ทําลายซากสัตว์ ที่แบ่งเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน
3.มีขอบเขตรอบฟาร์มที่ชัดเจน มีรั้วรอบขอบชิด และมีการตัดต้นไม้บริเวณฟาร์มให้สั้น สะอาด เพื่อป้องกันสัตว์พาหะต่างๆไม่ให้เข้าไปภายในฟาร์ม หรือโรงเรือน
4.มีจำนวนของไก่เนื้อที่เหมาะสมกับจำนวนของโรงเรือน และขนาดของฟาร์มไก่เนื้อ
5.มีระยะห่างระหว่างโรงเรือน เลี้ยงไก่ แต่ละโรงเรือน ประมาณ 30 เมตร
6.ประตูทางเข้าฟาร์มสามารถปิดล็อกได้ ตลอดเวลา
7.มีบริเวณจอดรถ สำหรับยานพาหนะที่ใช้ภายในฟาร์มแยกเป็นสัดส่วน และมีที่จอดรถสำหรับจอดยานพาหนะของบุคคลภายนอก หรือพนักงานส่งเสริม และห่างจากโรงเรือนไก่เนื้ออย่างน้อย 30 เมตร
8.มีพื้นที่สำหรับพ่นยาฆ่าเชื้อ ยานพาหนะก่อนเข้าเขตฟาร์มเลี้ยงไก่ โดยแต่ละฟาร์ม จะมีพื้นที่ในการทำความสะอาดยานพาหนะก่อนเข้าฟาร์มทุกครั้ง
9.มีห้องสำหรับฆ่าเชื้อ อาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนชุดที่ทางฟาร์มจัดไว้ให้ ก่อนเข้าเขตฟาร์มเลี้ยงไก่
10.มีบริเวณกำจัดซากไก่ตาย และสิ่งปฏิกูล ขยะต่างๆ ห่างจากโรงเรือนเลี้ยงไก่ ประมาณ 300 เมตร
11.มีสถานที่สำหรับฆ่าเชื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อนนำเข้าเขตฟาร์มเลี้ยงไก่ ที่เป็นมาตรฐาน โดยอุปกรณ์การเลี้ยงไก่ภายในฟาร์ม หรืออุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่ที่ใช้ภายในฟาร์มอาจจะฆ่าเชื้อโดยการพ่นสเปรย์ด้วยยาฆ่าเชื้อ แต่ถ้าเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กหรือเป็นของบุคคลที่จะมีการนำเข้าไปใช้ภายในฟาร์ม ให้มีการฆ่าเชื้อโดยการอบรมควันฆ่าเชื้อ ในตู้อบรมควันของฟาร์ม ก่อนเข้าฟาร์ม
12.ภายในฟาร์มจะมีป้ายแสดงสถานะ และจุดบ่งชี้อันตรายต่างๆ เช่น ระบุตำแหน่งของโรงเรือน ระบุตำแหน่งของโรงเก็บอาหาร ระบุตำแหน่งของ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ระบุตำแหน่งของโรงอาหาร หรือ ระบุทางหนีไฟภายในโรงเรือนเลี้ยงไก่ เป็นต้น
13.บริเวณด้านหน้าของโรงเรือนเลี้ยงไก่แต่ละโรงเรือน จะต้องมีล้างทำความสะอาด และฆ่าเชื้อทุกวัน
14.ถนนภายในฟาร์ม จะต้องให้ใช้งานได้ดีทุกฤดูกาล ง่ายต่อการทำความสะอาด ไม่มีน้ำท่วมขัง และระบายน้ำได้ดี


3.ลักษณะของโรงเรือน
1.เป็นโรงเรือนระบบปิด และมีการออกแบบให้เหมาะสมกับการเลี้ยงไก่เนื้อ
2.ใช้วัสดุที่มีความคงทน แข็งแรง และทำความสะอาดง่าย และถูกต้องตามข้อกำหนดของ ระเบียบสวัสดิภาพสัตว์
3.เป็นโรงเรือนระบบปิด ที่สามารถที่จะป้องกันสัตว์ปีกชนิดต่างๆ และสัตว์พาหะชนิดต่างๆ ไม่ให้มีการเข้าไปภายในโรงเรือนเลี้ยงไก่ได้
4.ทางเข้า – ออกโรงเรือน มีการรักษาความสะอาด และฆ่าเชื้อทุกวัน

4.โรงเรือน และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในฟาร์ม
โรงเรือนเลี้ยงไก่เนื้อ จะต้องเป็นโรงเรือนระบบปิด ให้ความเย็นโดยอากาศถูกดูดผ่านระบบน้ำแผ่นรังผึ้ง ภายในโรงเรือนสร้างด้วยวัสดุที่คงทน สามารถทําความสะอาด และฆ่าเชื้อได้ง่าย มีขนาดเหมาะสมกับจำนวนไก่เนื้อที่เข้าเลี้ยงตามมาตรฐานกรมปศุสัตว์ และสามารถป้องกันสัตว์พาหะไม่ให้เข้าไปในโรงเรือนได้
สิ่งอำนวยความสะดวก และจำนวนอุปกรณ์ต่างๆที่จำเป็นขั้นต่ำสำหรับการเลี้ยงไก่เนื้อภาย
ในฟาร์ม มีดังนี้
1. ในแต่ละโรงเรือน มีอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อสําหรับจุ่มรองเท้า และมีอ่างล้างมือ และสบู่ และแอลกอฮอล์ สำหรับสเปรย์ฆ่าเชื้อมือ ที่บริเวณทางเข้าโรงเรือนทุกโรงเรือน
2. มีอ่างล้างมือ และสบู่หน้าห้องน้ำ และสถานที่รับประทานอาหาร และมีการฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์ ทุกครั้ง
3. มีระบบควบคุมความเร็วลม แสงสว่าง อุณหภูมิ ความชื้น และแก็ส ไม่ให้เกินเกณฑ์ที่กำหนด ยึดตามหลักการของระบบ Animal welfare
4. มีขนาดภาชนะเก็บกักน้ำสำรองได้อย่างน้อย 24 ชั่วโมงสำหรับไก่เนื้อภายในฟาร์ม และมีฝาปิดมิดชิด
5. มีระบบการฆ่าเชื้อน้ำที่ใช้ใน Cooling Pad โดยใช้น้ำที่มีคลอรีนประมาณ 1-3 ppm.
6. มีระบบ ไฟฟ้าฉุกเฉิน (เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง) กรณีไฟฟ้าดับ
7. อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการเลี้ยงไก่เนื้อ ภายในฟาร์ม จะมีการจัดการให้เหมาะสมตามระบบ Animal welfare สำหรับไก่เนื้อ และระบบมาตรฐานฟาร์มไก่เนื้อ ตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์


การจัดการฟาร์ม
1. การจัดการโรงเรือนและอุปกรณ์
1.หลังการจับไก่เนื้อออกจากโรงเรือนแล้ว ให้ปิดประตูโรงเรือนจนกว่าจะเริ่มเก็บวัสดุรองพื้น อุปกรณ์ต่างๆ ออกจากโรงเรือน เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค ก่อนใช้ครั้งต่อไป
2.ทางเข้า – ออกโรงเรือน จะมีการจัดเตรียมอ่างจุ่มเท้าเอาไว้ให้พร้อม โดยในหนึ่งโรงเรือนให้มีอ่างจุ่มเท้า ทั้งหมด 3 อ่าง โดยจะมีอ่างน้ำเปล่า 1 อ่าง และอ่างน้ำยาฆ่าเชื้ออีก 2 อ่าง และจะมีการเตรียมรองเท้าบูซไว้เปลี่ยนในแต่ละโรงเรือนด้วย
3.อ่างจุ่มเท้า มีขนาดใหญ่ที่พอเหมาะต่อการใช้งาน และตั้งเอาไว้ในที่ร่ม ไม่ให้โดนแสงแดด
4.ทางเข้า-ออกโรงเรือน ได้มีการจัดเตรียม แปรง และสารทำความสะอาด สำหรับทำความสะอาดรองเท้า ก่อนจุ่มเท้าในอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อโรคจะใช้ยาฆ่าเชื้อ AV-CLEAN. อัตราส่วน 1 : 100 ใช้จุ่มเท้าฆ่าเชื้อ และนอกจากนี้ แขกที่เข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มให้เตรียมรองเท้าไว้เปลี่ยนก่อนเข้าในแต่ละโรงเรือนด้วย
5.ก่อนเข้าโรงเรือน ทุกคนจะต้องมีการล้างมือด้วยสบู่ ให้สะอาด และพ่นฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์ ทุกครั้ง
6.ยาฆ่าเชื้อที่ใช้ในอ่างจุ่มเท้า จะมีการเปลี่ยนอย่างน้อย วันละ 1 ครั้ง หรือให้มีการเปลี่ยนทุกครั้งที่อ่างจุ่มเท้าสกปรก เพื่อให้ยาฆ่าเชื้อมีประสิทธิภาพ สูงสุด
7.มูลของไก่เนื้อ หรือวัสดุรองพื้นไม่ให้เก็บไว้ในบริเวณฟาร์ม และจะต้องทำการบำบัด ด้วยการพ่นยาฆ่าเชื้อโรคก่อนเคลื่อนย้ายออกจากฟาร์ม โดยให้พ่นยาฆ่าเชื้อที่บริเวณโรงสเปรย์ฟาร์มก่อนการเคลื่อนย้ายออกจากฟาร์ม และเคลื่อนย้ายด้วยรถขนส่งที่มีผ้าคลุมอย่างมิดชิด หรือทำการพ่นยาฆ่าเชื้อที่มูลไก่ด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้มูลไก่เกิดการฟุ้งกระจายไปสู่สิ่งแวดล้อม
8.มูลของไก่เนื้อ หรือ วัสดุรองพื้นที่ใช้แล้วในการเลี้ยงไก่รุ่นที่ผ่านมา ไม่ให้เก็บเอาไว้ภายในฟาร์ม และไม่ให้นำสิ่งรองนอนใหม่เข้าไปภายในโรงเรือนไก่เนื้อ ก่อนที่จะมีการล้างทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรค เสร็จเรียบร้อยแล้ว
9.ล้างทําความสะอาด ฆ่าเชื้อโรงเรือนและอุปกรณ์ ก่อนนำไก่เนื้อชุดใหม่เข้าเลี้ยง และหลังจากฆ่าเชื้อโรคภายในโรงเรือนเสร็จแล้ว ให้ปิดประตู พักโรงเรือน อย่างน้อย 14 วัน หลังจากพ่นยาฆ่าเชื้อโรคโรงเรือนครั้งที่ 1 แล้ว
10.อุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการทำความสะอาด จะต้องเป็นอุปกรณ์ที่อยู่ในสภาพที่ดี ไม่ชำรุด
11.มีการจัดแบ่งพื้นที่ภายในโรงเรือนให้เป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน และถูกสุขลักษณะ
12.หลังการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคโรงเรือนไก่เนื้อแล้ว ให้ทำการปิดประตูโรงเรือนให้สนิท และถ้าโรงเรือนเลี้ยงไก่เนื้อไม่แห้งเนื่องจากการพ่นยาฆ่าเชื้อ ให้เปิดพัดลมระบายอากาศเพื่อให้พื้นโรงเรือนแห้ง
13.อุปกรณ์ต่างๆ ที่จะนำเข้ามาในเขตฟาร์ม ให้ทำการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อก่อนเสมอ
14.ชุดปฏิบัติงานไม่ให้นำออกนอกฟาร์ม หลังการใช้งานทุกครั้ง จะต้องซักล้างชุดปฏิบัติงานให้สะอาด และฆ่าเชื้อโรคก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ทุกครั้ง

2. การจัดการบริเวณรอบโรงเรือน
1.ไม่ให้มีโค กระบือ และสัตว์เคี้ยวเอื้องอื่นๆ และสัตว์ปีกชนิดอื่นๆ (ไก่ เป็ด ห่าน นกกระจอกเทศ นกสวยงาม และนกอื่นๆ) เข้ามาภายในฟาร์ม
2. บริเวณภายในฟาร์มจะตัดหญ้าให้สั้น และบริเวณโดยรอบโรงเรือนจะตัดหญ้าให้โล่งเตียนในระยะ อย่างน้อย 3 เมตร และไม่มีขยะเพื่อไม่ไห้เป็นที่หลบซ่อนของสัตว์ฟันแทะ
3.ต้นไม้หรือพุ่มไม้จะไม่ปลูกชิดติดโรงเรือน ถ้ามีก็จะตัดให้เตี้ย หรือโปร่งโล่ง เพื่อไม่ไห้เป็นที่อยู่ของสัตว์ปีกต่างๆ ภายในฟาร์ม

การจัดการยานพาหนะ
1.ประตูทางเข้า-ออกฟาร์ม จะต้องปิดตลอดเวลา สามารถเปิดให้เข้าได้เมื่อทราบจุดประสงค์ และได้รับอนุญาตจากผู้รับผิดชอบ และมีบันทึกรายละเอียด วัน-เวลา การเข้า – ออกทุกครั้ง
2.มีการแยกยานพาหนะที่ใช้ภายใน กับยานพาหนะที่ใช้ภายนอกฟาร์ม อย่างชัดเจน
3.ยานพาหนะทุกชนิดที่เข้ามาปฏิบัติงานภายในฟาร์มไก่เนื้อ ให้มีการล้างทำความสะอาด และฆ่าเชื้อให้ทั่ว รวมทั้งแผ่นรองพื้นภายในยานพาหนะ
4.จอดยานพาหนะในสถานที่ที่ฟาร์มกำหนดไว้ให้ และให้ห่างจากโรงเรือนมากกว่า 30 เมตร
5.ยานพาหนะที่เข้าเขตฟาร์มไก่ ให้ผ่านการสเปรย์ฆ่าเชื้อโรคภายนอกอย่างทั่วถึง ที่โรงสปรย์ฟาร์ม ก่อนทุกครั้ง

การจัดการด้านอาหารสัตว์
แหล่งที่มาของอาหารสัตว์จะมาจากโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP) จากกรมปศุสัตว์
1.มีภาชนะบรรจุอาหารที่สะอาดเป็นรถเบาท์หรือถังบรรจุอาหารสัตว์ และขั้นตอนการขนส่งอาหารที่มิดชิดถูกต้องตามสุขอนามัย เพื่อป้องกันการปนเปื้อนระหว่างทาง
2.กรณีมีความจำเป็นต้องขนส่งอาหารสัตว์แบบบรรจุถุงหรือกระสอบ ไม่ให้นำภาชนะบรรจุเหล่านั้นกลับมาใช้บรรจุอาหารสัตว์อีกครั้ง
3.รถขนส่งอาหารสัตว์ ก่อนบรรทุกอาหารสัตว์ ให้มีการทำความสะอาดและทำการตรวจสอบทุกครั้ง
4.ภาชนะที่บรรจุอาหารสัตว์ที่ใช้แล้ว จะไม่อนุญาตให้นำกลับมาใช้ในการบรรจุอาหารสัตว์อีกครั้ง อย่างเช่น ถุงอาหาร กระสอบอาหาร เป็นต้น
5.อาหารที่หกหล่นให้รีบทำความสะอาดทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารสำหรับสัตว์พาหะ
6.หลีกเลี่ยงการนำอาหารสัตว์จากฟาร์มหนึ่งข้ามไปอีกฟาร์มหนึ่ง
7.มีการกำหนดเส้นทาง ระยะทาง และระยะเวลาในการขนส่งจากโรงงานอาหารสัตว์ ไปฟาร์มให้ชัดเจน

การจัดการบุคลากร
การจัดการบุคคลกร และผู้เยี่ยมฟาร์ม จะต้องปฏิบัติดังนี
1.บุคลากรและผู้เยี่ยมชมที่มีการสัมผัสสัตว์ปีกหรือพบปะกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ปีกต่างๆขณะอยู่นอกฟาร์ม ต้องพักตัวอย่างน้อย 72 ชั่วโมงก่อนกลับเข้าทำงานในฟาร์ม
2.บุคลากรและผู้เยี่ยมชมที่มาจากพื้นที่ภายนอกที่ไม่มีการระบาดของโรค ในสภาวะปกติ ให้เดินผ่านละอองสเปรย์ฆ่าเชื้อหน้าโครงการหรือฟาร์ม และพักตัวในพื้นที่ของฟาร์ม ก่อนเข้าไปในฟาร์มไก่เนื้ออย่างน้อย 12 ชั่วโมง
3.อาการเจ็บป่วย เช่น มีการป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ หรือระบบทางเดินอาหาร ไม่อนุญาตให้เข้าฟาร์ม
4.การปฏิบัติเมื่อเข้าเขตพื้นที่การเลี้ยงไก่ ให้อาบน้ำ สระผม สวมเสื้อผ้า หมวกคลุมผมผ้าปิดปาก และรองเท้าที่ฟาร์มจัดเตรียมไว้ให้
5.บุคลากรภายในฟาร์ม ไม่ให้ทำงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การขายสัตว์ปีก การชำแหละหรือตัดแต่งซากสัตว์ปีก และจะกำหนดเงื่อนไขการจ้างงาน
6.บุคลากรภายในฟาร์ม ไม่ให้ไปในที่ที่มีสัตว์ปีกต่างๆหรือสุกรอยู่ ไม่ให้เลี้ยงนกหรือสัตว์ปีกอื่นๆภายในฟาร์มด้วย และเมื่อทำงานในฟาร์มใดๆให้พักอาศัยอยู่ในฟาร์มนั้นๆ
7.พนักงานจับไก่เนื้อ ให้มีความระมัดระวังในระหว่างปฏิบัติงานและไม่เข้าไปในบริเวณ
โรงเรือน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน

การควบคุมสัตว์พาหะ
1. แผนการควบคุมสัตว์พาหะ ทางฟาร์มจะต้องมีการตรวจติดตามปัญหาอย่างต่อเนื่อง เช่น นก หนู แมลง ซึ่งจะมีการทำความสะอาด กำจัดแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหารของสัตว์พาหะ เช่น วัชพืชรอบโรงเรือน พื้นที่ที่เป็นอาหารสัตว์ปีกต่างๆ เศษอาหารที่ตกหล่น สิ่งปฏิกูลต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ และไม่ให้มีสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ อยู่ภายในบริเวณฟาร์ม เช่น แมว และ สุนัข
2.และหลังจากนั้นก็จะมีการประเมินผลการควบคุมสัตว์พาหะ และ การวิเคราะห์ทุกเดือน ว่าระบบการควบคุมสัตว์พาหะภายในฟาร์มไก่ มีการจัดการที่ได้ผลหรือไม่


การจัดการน้ำ
น้ำที่ใช้ในฟาร์มจะมีการจัดการแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้น้ำสะอาด โดยมีการ
ป้องกันการปนเปื้อนมูลสัตว์หรือน้ำเสียจากโรงเรือนหรือบ้านพักและให้ห่างจากโรงฆ่าสัตว์หรือโรงงานอุตสาหกรรม และไม่มีสัตว์ปีกอื่นๆ หรือนกอพยพมาอาศัยอยู่ด้วย ซึ่งข้อกำหนดของการจัดการน้ำใช้ภายในฟาร์มนั้น จะมีดังนี้
1. คุณภาพน้ำที่ใช้ภายในฟาร์ม จะมีการควบคุมให้ได้มาตรฐานน้ำใช้ โดยมีแผนการส่งตัว
อย่างน้ำตรวจทางจุลชีววิทยา อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จากห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์ จะต้องมีการควบคุมให้มีระดับคลอรีนอิสระ ในน้ำที่ไก่กินอยู่ในช่วง 1 - 3 ppm โดยประมาณ โดยมีช่วงเวลาสำหรับการพักน้ำหลังจากการเติมคลอรีนแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง ก่อนนำไปใช้
2. น้ำที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว ต้องอยู่ในภาชนะปิดมิดชิด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคต่างๆ
จากสิ่งแวดล้อม
3. น้ำที่ใช้ภายในฟาร์ม จะต้องมาจากแหล่งน้ำที่สะอาด มีการจัดการดูแลแหล่งน้ำอย่าง
ต่อเนื่องสม่ำเสมอ เช่น ไม่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์พาหะ หรือนกย้ายถิ่น

การจัดการสิ่งแวดล้อม
1.มูลไก่ หรือวัสดุรองพื้น ให้เคลื่อนย้ายด้วยรถขนส่งที่ปิดคลุมอย่างมิดชิด กำจัดเศษวัสดุรองพื้นระหว่างการเลี้ยง โดยการเผา หรือฝังทำลาย แต่กรณีปลดไก่ให้ทำการกำจัดมูลไก่พร้อมวัสดุรองพื้นออกจากฟาร์มโดยเร็ว โดยการนำออกนอกฟาร์มให้ไกล และให้พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อที่โรงสเปรย์ก่อน และให้พ่นให้เปียกด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้มีฝุ่นฟุ้งกระจายสู่สิ่งแวดล้อม และให้ใช้ผ้าคลุมให้มิดชิดเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายไปปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อม
2.น้ำที่ใช้ล้างโรงเรือนและอุปกรณ์ ให้มีการบำบัดให้เหมาะสมก่อนการปล่อยลงสู่แหล่ง น้ำสาธารณะ
3.มีพื้นที่เฉพาะเพื่อรองรับน้ำที่ใช้ล้างโรงเรือน และอุปกรณ์ไม่ให้น้ำกระจายไปทั่วฟาร์ม
4.การกำจัดขยะมูลฝอย ให้มีการรวบรวมไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด และนำไปกำจัดด้วยวิธีที่เหมาะสม ซึ่งขยะมูลฝอยจะมีการนำไปเผาที่เดียวกันกับที่เผาซากไก่ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม





บทสรุป
ในส่วนของระสุขศาสตร์ป้องกันโรคภายในฟาร์ม มักจะเกี่ยวข้องกับระบบการสุขาภิบาลภายในฟาร์มด้วย (sanitation management) โดยมากจะเกี่ยวข้องกับการใช้ยาฆ่าเชื้อให้มีประสิทธิผลสูงที่สุด ทั้งนี้จุดมุ่งหมายสูงสุดก็เพื่อที่จะใช้ในการควบคุมและป้องกันโรคไม่ให้เข้าฟาร์ม โดยยาฆ่าเชื้อที่ใช้ก็จะต้องเป็นยาฆ่าเชื้อที่ผ่านการตรวจสอบมาแล้วว่าใช้ได้ผล และมีระยะเวลาของการสัมผัสเชื้อนานเพียงพอให้เกิดประสิทธิผลตลอดจนมีความเข้มงวดตรวจสอบให้เกิดการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง และถูกต้องอยู่เสมอ
ในฟาร์มไก่ประกันจะมีจุดต่าง ๆ ที่ต้องมีการใช้ยาฆ่าเชื้อหลายๆจุดด้วยกัน ทั้งในส่วนของฟาร์ม และในโรงเรือนเลี้ยงไก่ โดยมีจุดต่าง ๆ ดังนี้
1. จุดพ่นยาเพื่อฆ่าเชื้อยานพาหนะหน้าฟาร์มหรือโรงสเปรย์หน้าฟาร์ม จะใช้ยาฆ่าเชื้อในรูปที่ผสมกันระหว่าง Quatemary ammounium compound 10% และ Glutaraldehyde 10% ในอัตราการใช้ 1 ลิตร : น้ำ 100 ลิตร
2. บ่อน้ำยาจุ่มฆ่าเชื้อล้อรถยนต์ จะใช้ยาฆ่าเชื้อในรูปที่ผสมกันระหว่าง Quatemary ammounium compound 10% และ Glutaraldehyde 10% ในอัตราการใช้ 1 ลิตร : น้ำ 100 ลิตร และเปลี่ยนทุกวัน ขึ้นอยู่กับความสะอาดของน้ำยาฆ่าเชื้อในบ่อ
3. จุดผ่านสเปรย์ยาฆ่าเชื้อบุคคลหลังถอดเสื้อผ้า ก่อนอาบน้ำ จะใช้ยาฆ่าเชื้อ Benzachlonium chloride 10% ในอัตราส่วน 1 ลิตร : น้ำ 200 ลิตร
4. จุดพ่นสเปรย์บุคคล หรือ Pre-room จะใช้กลุ่ม Benzachlonium chloride 10% ในอัตราส่วน 1 ลิตร : น้ำ 200 ลิตร พ่นเป็นฝอย
5. การฆ่าเชื้อ อุปกรณ์ สิ่งของ ที่นำเข้าสู่พื้นที่ภายในบริเวณฟาร์ม หรือ เข้าไปในโรงเรือนจะใช้การรมควันด้วยแก๊สฟอร์มัลดีไฮด์ (formaldehyde gas) โดยใช้ ด่างทับทิม (potassium permanganate) 20 กรัม แล้วเทน้ำฟอร์มาลีน 40% จำนวน 40 มิลลิลิตร ต่อปริมาตรของอากาศ 100 ลูกบาศก์ฟุต ทิ้งไว้ให้เกิดปฏิกิริยาและฆ่าเชื้อเป็นเวลา 20 นาที
6. การฆ่าเชื้อที่ปนเปื้อนไปกับรองเท้าบู๊ท (boot) ที่จะใส่เข้าในโรงเรือน โดยใช้ยาฆ่าเชื้อกลุ่ม Quatemary ammounium compound 10% ร่วมกับ Glutaradehyde 10% ในอัตราส่วนความเข้มข้น 1 ลิตร : น้ำ 100 ลิตร
7. การล้างมือก่อนและหลังการเข้าไปในโรงเรือนแต่ละหลัง จะใช้สบู่ล้างมือ และฆ่าเชื้อด้วย แอลกอฮอร์ ที่มืออีกครั้งหนึ่ง

สารเคมีที่ใช้
ชื่อสารเคมี
สารออกฤทธิ์
อัตราส่วน
วัตถุประสงค์
AV-Clean
Quaternary ammonium Compound + Glutaraldehyde
1:100
ฆ่าเชื้อรถ
ฆ่าเชื้อล้อรถ
AV-Clean
Quaternary ammonium Compound + Glutaraldehyde
1:100
ฆ่าเชื้อรถ
หรือยานพาหนะที่ใช้ในโครงการไก่เนื้อ
Quazanium/
Foamy Gold
Quaternary ammonium Compound
1:200
ฆ่าเชื้อรถ
ฆ่าเชื้อล้อรถ
Formalin
Formaldehyde
1: -100
ฆ่าเชื้อล้อรถ
Quazanium
Quaternary ammonium Compound
1: 500
ฆ่าเชื้อแผ่นรองเท้ารถ
และภายในห้องโดยสารรถ
Fumigation
ด่างทับทิม20 g.+Fumalin 40 cc.
1X

อบรมควันฆ่าเชื้อ

หลักเกณฑ์การใช้ยาฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง
1. ยาฆ่าเชื้อต้องสัมผัสตัวเชื้อโรค เช่น พื้นที่จะฆ่าเชื้อจะต้องมีการทำความสะอาดก่อนที่จะใช้ยาฆ่าเชื้อ ตลอดจนการเลือกชนิดและคำนึงปริมาณสารอินทรีย์บริเวณที่จะใช้ด้วย
2. ความเข้มข้นของยาฆ่าเชื้อต้องได้ตามกำหนด ทุกจุดที่ใช้ยาฆ่าเชื้อ จะต้องมีอุปกรณ์หรือภาชนะที่ใช้สำหรับชั่ง ตวง วัด ทั้งปริมาณน้ำและปริมาณยาฆ่าเชื้อ เพื่อให้ได้ความเข้มข้นตามกำหนด
3. ระยะเวลาที่ยาฆ่าเชื้อสัมผัสเชื้อ (Contact time) จะต้องเหมาะสมตามชนิดของยาฆ่าเชื้อที่ใช้โดยทั่วไปภายในฟาร์ม แนะนำให้ทิ้งไว้อย่างน้อย 30 นาที ก่อนล้างยาฆ่าเชื้อออก
4. อุณหภูมิและความชื้นที่ใช้จะต้องเหมาะสม เช่น การรมควันต้องใช้อุณหภูมิ > 21 องศาเซลเซียสและความชื้นสัมพัทธ์ > 75 เปอร์เซ็นต์
5. การเก็บรักษายาฆ่าเชื้อตลอดจนภาชนะในยาฆ่าเชื้อ ต้องเหมาะสมมีฝาปิด กันแดดฝนได้เพื่อป้องกันยาฆ่าเชื้อเสื่อมคุณภาพ
6.ต้องมีการบันทึกการใช้ยาฆ่าเชื้อการตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอทุกจุดเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสม่ำเสมอสูง



เอกสารอ้างอิง
1. คู่มือระบบ Compartment ของบริษัทสหฟาร์ม และบริษัทในเครือ
2. คู่มือระบบ มาตรฐานฟาร์มไก่เนื้อ ของกรมปศุสัตว์ ประเทศไทย
3. คู่มือระบบ สวัสดิภาพสัตว์ สำหรับฟาร์มไก่เนื้อ ของกรมปศุสัตว์

ไม่มีความคิดเห็น: